ข้อคิดจากเรื่อง

ข้อคิดที่ควรพิจารณา จากเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์

          ๑. การขาดการพิจารณาไตร่ตรอง นำไปซึ่งความสูญเสีย ดังเช่น เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี “ขาดการพิจารณาไตร่ตรอง” คือ ขาดความสามารถในการใช้ปัญญา ตริตรองพิจารณาสอบสวน และใช้เหตุผลที่ถูกต้อง จึงหลงกลของวัสสการพราหมณ์ ถูกยุแหย่ให้แตกความสามัคคีจนเสียบ้านเสียเมือง ในรัชกาลที่ ๖ ด้วยเหตุที่คนไทยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการบ้านเมืองแตกต่างกันหลายฝ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กวีจึงนิยมแต่งวรรณคดีปลุกใจขึ้นเป็นจำนวนมาก สามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องหนึ่งในจำนวนนั้น
นายชิต บุรทัต แต่งเรื่องนี้ขึ้น โดยมุ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของความสามัคคี เพื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ในปัจจุบันกระแสชาตินิยมลดลง แต่ความสามัคคีก็เป็นหลักธรรมสำคัญในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ วรรณคดีเรื่องนี้จึงเป็นเนื้อหาที่มีคติสอนใจทันสมัยอยู่เสมอ

          ๒. แนวคิดของเรื่องสามัคคีเภท สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิทานสุภาษิตสอนใจให้เห็นโทษของการแตกความสามัคคี และแสดงให้เห็นความสำคัญของการใช้สติปัญญาให้เกิดผลโดยไม่ต้องใช้กำลัง

          ๓. ข้อคิดเห็นระหว่างวัสสการพราหมณ์กับกษัตริย์ลิจฉวี บางคนอาจมีทรรศนะว่า วัสสการพราหมณ์ขาดคุณธรรม ใช้อุบายล่อลวงผู้อื่นเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน แต่มองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า วัสสการพราหมณ์น่ายกย่องตรงที่มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอชาตศัตรูและต่อบ้านเมือง ยอมถูกลงโทษเฆี่ยนตี ยอมลำบาก จากบ้านเมืองตนไปเสี่ยงภัยในหมู่ศัตรู ด้องใช้ความอดทน สติปัญญาความสามารถอย่างสูงจึงจะสัมฤทธิผลตามแผนการที่วางไว้ ส่วนกษัตริย์ลิจฉวีเคยใช้หลักอปริหานิยธรรมร่วมกันปกครองแคว้นวัชชีให้มั่นคงเจริญมาช้านาน แต่เมื่อถูกวัสสการพรามหณ์ใช้อุบายยุแหย่ให้แตกความสามัคคี
ก็พ่ายแพ้ศัตรูได้โดยง่ายดาย

          ๔. เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ให้อะไรกับผู้อ่าน ข้อคิดสำคัญที่ได้จากเรื่อง คือ โทษของการแตกความสามัคคี ส่วนแนวคิดอื่น ๆ มีดังนี้

                ๔.๑ การใช้ปัญญาเอาชนะศัตรูโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

                ๔.๒ การเลือกใช้บุคคลให้เหมาะสมกับงานจะทำให้งานสำเร็จได้ด้วยดี

                ๔.๓ การใช้วิจารณญาณไตร่ตรองก่อนทำการใด ๆ เป็นสิ่งที่ดี

                ๔.๔ การถือความคิดของตนเป็นใหญ่และทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่น ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม

           ๕. ศิลปะการประพันธ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์ นายชิต บุรทัต สามารถสร้างตัวละคร เช่น วัสสการพราหมณ์ ให้มีบุคลิกเด่นชัด และสามารถดำเนินเรื่องให้ชวนติดตาม นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญในการแต่งคำประพันธ์ ดังนี้

                ๕.๑ เลือกสรรฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน เช่น ใช้วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ซึ่งมีลีลาไพเราะ ชมความงามของเมืองราชคฤห์ ใช้อีทิสังฉันท์ ๒๐ ซึ่งมีลีลากระแทกกระทั้นแสดงอารมณ์โกรธ

               ๕.๒ ดัดแปลงฉันท์บางชนิดให้ไพเราะยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มสัมผัสบังคับคำสุดท้ายของวรรคแรกกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒ ในฉันท์ ๑๑ ฉันท์ ๑๒ และฉันท์ ๑๔ เป็นที่นิยมแต่งตามมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นายชิต บุรทัต ยังเพิ่มลักษณะบังคับ ครุ ลหุ สลับกันลงในกาพย์สุรางคนาง ๒๘ ให้มีจังหวะคล้ายฉันท์ด้วย

                ๕.๓ เล่นสัมผัสในทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรอย่างไพเราะ เช่น คะเนกล – คะนึงการ ระวังเหือด – ระแวงหาย

               ๕.๔ ใช้คำง่าย ๆ ในการเล่าเรื่อง ทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว และผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ทันที

               ๕.๕ ใช้คำง่าย ๆ ในการบรรยายและพรรณนาดัวละครได้อย่างกระชับ และสร้างภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน

อ้างอิง

http://www.gotoknow.org/posts/406381

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น